วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระพากุลเถระ เอตทัคคะ : เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยที่สุดด้วย


ชีวประวัติและการศึกษา
                พากุละ แปลว่า คนสองตระกูล ไม่ปรากฎนามของบิดามารดา ท่านเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองโกสัมพี
                เมื่อเวลาที่ท่านคลอดออกมาได้ ๕ วัน มีการทำมงคลโกนผมหน้าไฟพร้อมทั้งตั้งชื่อ พี่เลี้ยงนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งมาคาบเอาทารกแล้วกลืนเข้าไปในท้อง แต่เพราะเด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ปัจฉิมภวิกสัตว์แปลว่า ผู้เกิดในภพสุดท้ายถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์ อย่างไรเสียก็จักยังไม่ตาย
            ต่อมาปลาได้ถูกชาวประมงจับได้แล้วนำไปขายให้ตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี พอผ่าท้องปลาออกมา ก็ได้เจอทารกน้อย เลยเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม
                ฝ่ายบิดามารดาเก่าเมื่อได้ทราบข่าวจึงมาขอบุตรคืน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันไม่ได้ จึงถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองสลับเปลี่ยนกันเลี้ยงตระกูลละ ๔ เดือนท่านใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลทั้ง ๒ อย่างมีความสุข จนกระทั่งอายุถึง ๘๐ ปี
                ท่านพร้อมด้วยบริวารได้ไปฟังพระธรรมเทศนา ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชาวเมืองพาราณสี จึงได้ทูลขอบวช ในขณะที่ท่านมีอายุ ๘๐ ปี เมื่อท่านบวชแล้ว ก็ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท มีความพากเพียรพยายามเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหันต์
                ท่านได้มีอายุยืนถึง ๑๖๐ ปีคือเป็นฆราวาส ๘๐ ปี และเป็นพระอยู่ ๘๐ ปี ตำนานกล่าวว่าท่านมีอายุยืนยาวนาน เพราะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน โดยไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลยที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านเคยสร้างเว็จจกุฎีถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทานนั้นเอง
ข้อควรจำ
            ๑. ท่านเป็นลูกเศรษฐี เมืองโกสัมพี
            ๒. เมื่ออายุท่านได้ ๕ วัน พี่เลี้ยงนำไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา เกิดเหตุปลาใหญ่กลืนท่านเข้าไปแต่ไม่ตาย เพราะท่านเป็นสัตว์มีภพสุดท้าย(ปัจฉิมภวิกสัตว์) ชาวประมงจับปลาได้จึงนำไปให้เศรษฐี      เมืองพาราณสี    
            ๓. ท่านเศรษฐีจึงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ท่านจึงมีสองพ่อผลัดกันเลี้ยงดู
            ๔. ท่านได้มีโอกาสฟังธรรมและบวชเมื่อตอนอายุ ๘๐ ปี บวชเพียง ๗ วันก็บรรลุพระอรหัตต์
            ๕. ท่านมีอายุยืน ๑๖๐ ปี คือเป็นฆราวาส ๘๐ ปีเป็นพระ ๘๐ ปี และไม่มีโรคภัย เบียดเบียน
ท่านได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้มีอาพาธน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น